ประวัติความเป็นมา

                    ปี พ.ศ. 2493 กรมตำรวจในสมัยนั้น เห็นว่าควรจะนำเอาอากาศยานเข้ามาใช้ในราชการกรมตำรวจ เพื่อสนับสนุนการปราบปรามโจรผู้ร้ายในถิ่นทุรกันดาร ผู้ตรวจการจราจร การตรวจสภาพการจราจรในจังหวัดพระนครและผู้ตรวจราชการ จึงเริ่มต้นด้วยการทดลองจัดตั้งเป็นหน่วยขนาดเล็ก เรียกว่า “หน่วยบินตำรวจ” โดยกรมตำรวจได้ซื้ออากาศยานประเภท Helicopter ของ บริษัท ฮิลเลอร์ (Hiller) Model 360 จำนวน 1 ลำ ขึ้นการบังคับบัญชากับกองตำรวจนครบาล วังปารุสกวัน และให้เก็บรักษาเครื่องบินไว้ที่สนามเสือป่า การทดลองได้ผลดีต่อทางราชการเป็นอย่างมาก

                    ปี พ.ศ. 2496 สถานการณ์ในราชอาณาจักรลาว มีทีท่าว่าจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและความปลอดภัยของราชอาณาจักรไทย กระทรวงมหาดไทยจึงมีคำสั่งตั้ง กองบัญชาการตรวจรักษาชายแดน (ภาคอีสาน) ขึ้นเมื่อ 6 พฤษภาคม 2496 และสถานการณ์ชายแดนภาคใต้มีความจำเป็นที่จะต้อง ปราบปรามโจรคอมมิวนิสต์ร่วมกับรัฐบาลมาเลเซีย จึงได้จัดหาอากาศยานเพิ่มมากขึ้น มีทั้งเครื่อง Fixed Wing และ Helicopter ทำให้สถานที่ไม่พอเก็บรักษา กรมตำรวจจึงขอใช้สถานที่ในกองทัพอากาศ ดอนเมือง เป็นที่ตั้งหน่วยใหม่และเรียกชื่อว่า “กองสื่อสารทางอากาศ” ขึ้นตรงต่อกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ทำหน้าที่ปฏิบัติภารกิจสนับสนุนการปราบปรามโจรทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสนับสนุนกองบัญชาการตารวจตระเวนชายแดน โดยได้จัดซื้ออากาศยานประเภท Helicopter Model UH 1B จานวน 12 ลำ อากาศยานประเภท Fixed Wing แบบ Cessna Model C 180 จำนวน 2 ลำ และแบบ Cessna Model C 195 จำนวน 1 ลำ และแบบ Flasher จำนวน 1 ลำ มีโรงเก็บอยู่ภายในที่ตั้งของกองทัพอากาศดอนเมือง

                    ปี พ.ศ. 2497 ความจำเป็นในการใช้อากาศยานมีมากขึ้น โดยเฉพาะการลำเลียงขนส่งทางอากาศ กรมตำรวจ จึงได้ซื้ออากาศยานประเภท Fixed Wing Douglas Model C – 47 จำนวน 2 ลา สำหรับการลำเลียงขนส่งนักกระโดดร่มและอากาศยานประเภท Helicopter Hiller Model 12 B เพิ่มอีกจำนวน 4 ลำ

                    ปี พ.ศ. 2498 กรมตำรวจ ได้จัดซื้ออากาศยานประเภท Helicopter Sikorsky Model S – 55 จำนวน 1 ลำ

                    ปี พ.ศ. 2501 กรมตารวจ ซื้ออากาศยานประเภท Fixed Wing Douglas Model C – 47 เพิ่มขึ้นอีกจำนวน 2 ลำ

                    ปี พ.ศ. 2503 ได้จัดตั้งหน่วยบินตำรวจน้ำขึ้นที่กองตำรวจน้ำ เนื่องจากเป็นหน่วยงานอีกหน่วยงานหนึ่งที่มีความจำเป็นต้องใช้อากาศยาน

                    ด้วยกิจการด้านการบินของหน่วยบินตำรวจได้ให้การสนับสนุนโดยตรงต่อตำรวจตระเวนชายแดนเป็นส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมด จึงเท่ากับว่า “หน่วยบินตำรวจ” ขึ้นการบังคับบัญชากับตำรวจตระเวนชายแดนโดยปริยาย ทำให้ในปี พ.ศ. 2504 มีการปรับปรุงการจัดหน่วยของตำรวจตระเวนชายแดน ให้มีฐานะเป็นหน่วยขึ้นกับตำรวจภูธร เรียกว่า กองบัญชาการตำรวจภูธร (ฝ่ายชายแดน) “หน่วยบินตำรวจ” ก็ได้รับ การยกฐานะเป็น “กองกำกับการบินลำเลียง” ขึ้นกับฝ่ายสนับสนุนตำรวจภูธร (ฝ่ายชายแดน) มีชื่อย่อ กก.บล.ฝน.ชด. โดยที่ตั้งยังคงอยู่ที่กองทัพอากาศ ดอนเมือง

                    และในปีเดียวกันนี้ กรมตำรวจได้จัดซื้ออากาศยานประเภท Fixed Wing แบบ Cessna Model 310 F ชนิด 2 เครื่องยนต์ จานวน 2 ลำ และได้รับความช่วยเหลือจาก USOM สหรัฐอเมริกา ให้ Helicopter Sikorsky Model S – 55 อีกจำนวน 3 ลำ

                    เนื่องจากภารกิจของกองกำกับการบินลำเลียงได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวางมิได้จำกัดเฉพาะการสนับสนุนตำรวจตระเวนชายแดนเท่านั้น ยังต้องสนับสนุนตำรวจภูธร และส่วนราชการอื่นๆ อีกเป็นอันมาก และฝ่ายช่วยเหลืองของสหรัฐอเมริกา (USOM) เห็นว่าหลายหน่วยงานในกรมตำรวจ มีความต้องการอากาศยานไว้ใช้ในราชการของตนเอง เช่น ตำรวจน้ำ ตำรวจป่าไม้ และตำรวจดับเพลิง หากให้มารวมตัวกันคงเกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพมากขึ้น กรมตำรวจจึงได้มีแนวความคิดที่จะยกฐานะกองกำกับการบินลำเลียง ฝ่ายสนับสนุนตำรวจตระเวนชายแดน (กก.บล.ฝน.ชด.) ขึ้นเป็นหน่วยงานระดับกองบังคับการ ขึ้นตรงต่อกรมตำรวจ โดยได้รับความเห็นชอบและสนับสนุนจาก USOM และกรมวิเทศสหการ (A.I.D.) ซึ่งเป็นหน่วยงานบริหารงานรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศแนวความคิดนี้ได้ข้อยุติ

                    เมื่อ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2510 กรมตำรวจ ได้ยกฐานะกองกำกับการบินลำเลียง (กก.บล.ฝน.ชด.) และหน่วยบินตำรวจน้ำ ทดลองจัดตั้งเป็น “กองบินตำรวจ” โดยแต่งตั้งให้ พ.ต.อ.พิชิต รักษนาเวศ หัวหน้าฝ่ายอำนวยการตำรวจภูธรชายแดน ทำหน้าที่ผู้บังคับการกองบินตำรวจอีกตำแหน่งหนึ่ง และในปี พ.ศ. 2511 ได้มีการสร้างอาคารที่ทำการพร้อมส่วนประกอบ โรงเก็บอากาศยาน ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2512 บนเนื้อที่ประมาณ 222 ไร่ ตั้งอยู่แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร อันเป็นที่ตั้งกองบินตำรวจในปัจจุบัน ส่วนที่ทำการและโรงเก็บในกองทัพอากาศ ดอนเมือง ก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของกองบินตำรวจ

                    จนกระทั่ง 18 พฤศจิกายน 2512 ได้มีพระราชกฤษฎีกาตั้งกองบินตำรวจขึ้นเป็นหน่วยงานระดับกองบังคับการ ขึ้นตรงต่อ กรมตำรวจ เรียกว่า “กองบินตำรวจ (Police Aviation Division)” มีชื่อย่อ “บ.ตร.”

                    ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 ได้มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2535 กำหนดให้กองบินตารวจ เป็นหน่วยงานระดับกองบังคับการ ขึ้นสายบังคับบัญชาต่อสำนักงานส่งกำลังบำรุง กรมตำรวจ แบ่งเป็น 4 กองกำกับการประกอบด้วย กองกำกับการ 1 รับผิดชอบงานอำนวยการ กองกำกับการ 2 รับผิดชอบงานการบิน กองกำกับการ 3 รับผิดชอบงานช่างอากาศยาน กองกำกับการ 4 รับผิดงานสนับสนุน ต่อมาในปี พ.ศ.2539 ได้ปรับโครงสร้างเป็น 3 กองกำกับการ 4 กลุ่มงาน ประกอบด้วย กองกำกับการอำนวยการ กองกำกับการสนับสนุน กองกำกับการช่างอากาศยาน กลุ่มงานการบิน กลุ่มงานช่างอากาศยาน กลุ่มงานผู้เชียวชาญช่างอากาศยาน กลุ่มงานวิศวกรรมอากาศยาน

                    ต่อมาในปี พ.ศ. 2547 ได้มีการปรับโครงสร้างของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยกำหนดให้กองบินตำรวจ เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และยังคงมีภารกิจและหน้าที่ในการบินสนับสนุนภารกิจต่างๆ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

                    ปี พ.ศ. 2560 และ 2561 กองบินตำรวจ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างอาคารที่ทำการใหม่เพื่อใช้เป็นอาคารที่ทำการส่วนบังคับบัญชา และฝ่ายอำนวยการ ซึ่งการก่อสร้างแล้วเสร็จและย้ายเข้าอาคารที่ทำการใหม่ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562